ความเป็นมา
45 ปี ป.ป.ส.
ก้าวสู่การเริ่มก่อตั้ง
วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส.
International Narcotics Control College : INCC
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ภาคภูมิใจที่ได้รับมอบพื้นที่หอฝิ่น เพื่อสานต่อปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งหอฝิ่นนั้นเกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วยดินแดนของประเทศ สปป.ลาว เมียนมา และไทย ที่ชาวโลกรู้จักเพียงแค่เป็นที่ปลูกฝิ่น ผลิต และค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่ อันเป็นเหตุให้ประเทศเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก จากการแก้ปัญหายาเสพติดของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการในพระราชดำริของพระองค์ที่สามารถลดอุปทาน (supply) ของการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติดเพื่อลดอุปสงค์ (demand) ของการใช้สารเสพติด
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯจึงได้ดำเนินการตามพระราชปรารภของพระองค์ท่าน โดยจัดสร้างหอฝิ่นขึ้นในพื้นที่บริเวณบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับฝิ่นและสารเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2542 เพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ หอฝิ่นจึงเป็นดอกผลแห่งแรงบันดาลใจในการสืบสานแนวพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และในปี พ.ศ.2563 แนวคิดการจัดตั้งวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศเกิดขึ้นจาก สำนักงาน ป.ป.ส. โดยนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ขอรับมอบพื้นที่หอฝิ่นจาก ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง (ในขณะนั้น) ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้พิจารณาและมีมติที่ประชุมเห็นชอบกรมป่าไม้จึงอนุญาตให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำมะและป่าสบรวก ท้องที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 156-3-03 ไร่ มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี เพื่อเป็นการสานต่อปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเลขาธิการ ป.ป.ส.ที่มุ่งมั่นให้สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นการทำงานในรูปแบบเชิงรุก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และสร้างการเรียนรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในทุกมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฎิบัติงานร่วมกันซึ่งจำเป็นต้องสร้างและเพิ่มเครือข่ายเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม